เปิดทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2568 แม้ว่าจะมีแนวโน้มเริ่มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตามหลายปัจจัย เช็คข้อมูลเชิงลึกทั้ง ปัจจัยสนับสนุน ข้อจำกัด ปัจจัยเสี่ยง รวบรวมไว้ที่นี่ครบ
เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ยังคงต้องจับตาหลายปัจจัยทั้งในและนอกประเทศว่าจะส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหน แม้ว่าที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ คาดว่า จะขยายตัวประมาณ 2.3 - 3.3% โดยมีค่ากลางการประมาณการอยู่ที่2.8% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 2.6% ในปี 2567
ทั้งนี้มีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐ การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ภาคเอกชนภายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุน การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้น รวมทั้งแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก
อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ยังมีความเสี่ยงและข้อจำกัด ที่สำคัญซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในกรณีฐาน เป็นผลเนื่องมาจากความเสี่ยงของแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อาจขยายตัวต่ำกว่าที่คาดท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
รวมทั้งความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัดของการขยายตัวอันเนื่องมาจากภาระหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง และแนวโน้มความผันผวนในภาคการเกษตร
1.การเพิ่มขึ้นของแรงสนับสนุนจากรายจ่ายภาครัฐโดยเฉพาะรายจ่ายลงทุน
สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีและงบประมาณรายจ่ายเหลื่อมปีประจำปีงบประมาณ 2568 ดังนี้
การเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ในวงเงินรวม 3.75 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.8% จากปีงบประมาณก่อนหน้า เมื่อพิจารณาจากสมมติฐานอัตราเบิกจ่าย สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่92.1% คาดว่าจะมีเงินงบประมาณเบิกจ่ายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจรวม 3.46 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.6% จากปีก่อน
กรอบงบประมาณรายจ่ายเหลื่อมประจำปีงบประมาณ 2568 รวมทั้งสิ้น 2.75 แสนล้านบาท ถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 และเพิ่มขึ้น 71.9% จากปีงบประมาณก่อนหน้า เนื่องจากความล่าช้าในกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567
ตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนและการขยายตัวต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน โดยคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะกลับมาขยายตัวสอดคล้องกับการฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่
การขยายตัวของการนำเข้าที่เห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2567 เป็นการเพิ่มขึ้นของปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง
การเพิ่มขึ้นของยอดการขอรับการอนุมัติ และการออกบัตรส่งเสริมการลงทุน ในช่วง 9 เดือนของปี 2567 ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนโดยตรงไหลเข้าจากต่างประเทศในช่วง 9 เดือนของปี 2567 ที่มีมูลค่ารวม 7.2 ล้านล้านบาท
การขยายตัวของพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยพื้นที่ขาย/เช่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมในช่วงเดือนตุลาคม 2566 ถึงกรกฎาคม 2567 อยู่ที่ 6,174 ไร่ นับเป็นขนาดพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์
ขณะเดียวกัน การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะยังคงสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะเริ่มชะลอตัวเข้าสู่แนวโน้มปกติมากขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง สะท้อนจากอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำและแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคเกษตร ประกอบกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่แม้จะทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายนโยบายการเงิน
สอดคล้องกับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะกลับเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้น สะท้อนจากจ่านวนนักท่องเที่ยวจากประเทศต้นทางส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นเดียวกับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายนักท่องเที่ยวต่างชาติ
โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากแนวโน้มการฟื้นตัวของการเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลก และการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินระหว่างประเทศมายังประเทศไทย ส่งผลต่อจำนวนที่นั่งเข้าไทย (Seat Capacity) เพิ่มขึ้น รวมถึงการดำเนินมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติของภาครัฐผ่านมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยและการจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยว
รวมทั้งแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวชาวไทย ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวระยะเร่งด่วน (Quick Win) เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงนอกฤดูกาล รวมไปถึงมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค ซึ่งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวดังกล่าวส่งผลให้ภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ภาคการขนส่ง ภาคบริการที่พักและร้านอาหาร รวมถึงภาคการค้ามีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง
สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก นอกจากนี้ ทิศทางการค้าโลกยังมีแนวโน้มขยายตัวตามยอดคำสั่งซื้อใหม่ (New orders) ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งแนวโน้มวัฏจักรขาขึ้นของสินค้า อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสัญญาณสะท้อนถึงทิศทางการเพิ่มขึ้นของยอดขายสินค้าอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า
ขณะเดียวกัน การส่งออกในกลุ่มสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูปและอาหารของไทย ซึ่งถือเป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องตามความต้องการของตลาดโลกที่ยังสูง โดยการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการส่งออกจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวอย่างชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งส่งผลให้กาถรลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ดี แนวโน้มการขยายตัวของการส่งออกสินค้าของไทยในระยะต่อไปยังคงมีความอ่อนไหวสูงมากต่อทิศทางการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนทั้งรูปแบบและช่วงเวลาของการดำเนินการ
อ่านต่อได้ที่ : https://www.thansettakij.com/business/economy/615957